ท่าไชยไบโอแก๊ส - พลังงานไบโอแก๊ส พลังงานลดโลกร้อน

พลังงานไบโอแก๊ส สำหรับฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ และอื่นๆ




ขับเคลื่อนโดย Blogger.

'ซีพีเอฟ' ปูพรมก๊าซชีวภาพฟาร์มสุกร

   ซีพีเอฟเดินหน้าหนุนเกษตรกรตั้งระบบก๊าซชีวภาพ ผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์มสุกร คาด 5 ปีทำครบ 482 รายทั่วประเทศ หลังเดินหน้าไปแล้วกว่าครึ่ง โชว์ผลสำเร็จเฉพาะฟาร์มซีพีเอฟ 37 แห่ง ลงทุน 115 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้รวม 12-13 ล้านหน่วย ประหยัดค่าไฟฟ้าราว 30% ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 170,721 ตันต่อปี เตรียมต่อยอดขายคาร์บอนเครดิต

   นางพัชรา จวนรุ่ง รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำหัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันฟาร์มสุกรของซีพีเอฟรวม 37 แห่งทั่วประเทศได้ลงทุนติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) เพื่อนำก๊าซมีเทนที่เกิดจากกากของเสียในการเลี้ยงสุกรกลับมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าภายในฟาร์ม โดยมีรูปแบบการจัดการก๊าซชีวภาพ 4 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบพลาสติกคลุมบ่อแบบชักกากได้ (Cover lagoon) 2.ระบบหมักราง (Plug Flow) 3.ระบบโดมคงที่ (Fixed Dome) และ 4.ระบบผสม ใช้เม็ดเงินลงทุนไปทั้งสิ้น 115 ล้านบาท พร้อมทั้งได้ขยายผลไปยังฟาร์มสุกรของเกษตรกรจำนวน 240 ราย จากทั้งหมด 482 ราย ส่วนใหญ่ฟาร์มที่พัฒนาภายหลังจะใช้ระบบผสมระหว่างโดมคงที่และพลาสติกคลุมบ่อ (Fixed Dome +Cover Lagoon) เนื่องจากลงทุนต่ำ ปริมาณการเกิดก๊าซสูงเพราะสามารถเก็บน้ำเสียได้ถึง 40-60 วัน

   ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซ 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.42 หน่วย รวมกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.8 ล้านหน่วย ประหยัดค่าไฟฟ้าภายในฟาร์มได้ประมาณ 30% คาดว่าในปี 2553 จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 12-13 ล้านหน่วย เนื่องจากได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สามารถใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพได้เต็มที่มากขึ้น สำหรับฟาร์มสุกรของเกษตรกรที่ยังไม่ได้จัดทำระบบก๊าซชีวภาพนั้น ยังเหลืออีกประมาณ 242 ราย ซึ่งซีพีเอฟจะส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพทั้งหมด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี และในอนาคตอาจสามารถที่จะขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมทำเอกสารขอการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ประมาณ 10 โครงการ คาดว่าจะลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 10,000 ตันต่อปี

   น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟได้ตั้งเป้าหมายว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ฟาร์มสุกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรทุกแห่งต้องใช้ระบบก๊าซชีวภาพทั้งหมด โดยหวังให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ถือเป็นโครงการหลักที่ยึดหลักการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพของซีพีเอฟที่ผ่านมา สามารถก๊าซชีวภาพได้ถึง 613,220 ลูกบาศก์เมตร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 170,721 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 851,800 ต้นต่อปี

   พร้อมกันนี้ ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟยังได้ดำเนินการโครงการลดก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ด้วย เช่น โครงการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ฟาร์ม ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 หรือราว 17 ปี เน้นการปลูกไม้ยืนต้นและไม้เศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ สัก ประดู่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สัตตบรรณ รวมถึงปัจจุบันมีประมาณ 137,860 ต้น และมีการพัฒนาระบบการฟอกอากาศที่ออกจากโรงเรือนสุกร ซึ่งช่วยลดกลิ่นและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี วงเงินลงทุนอยู่ที่ 550,000 บาทต่อการเลี้ยงสุกร 1,200 ตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ตุณกำลังอยู่ที่หน้า 'ซีพีเอฟ' ปูพรมก๊าซชีวภาพฟาร์มสุกร. http://thachaibiogas.blogspot.com/2011/03/blog-post_08.html.
เขียนโดย: Admin - วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

แสดงความคิดเห็น "'ซีพีเอฟ' ปูพรมก๊าซชีวภาพฟาร์มสุกร"

แสดงความคิดเห็น